โรคผิวหนังอักเสบเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ส่วนมากมักมีผื่นคัน บวม หรือแดงตามผิวหนัง บางครั้งอาจเกิดเป็นแผลพุพอง มีน้ำหนอง หรือตกสะเก็ดร่วมด้วย อย่างไรก็ตามโรคนี้จะไม่ติดต่อสู่ผู้อื่น แต่อาจทำให้รู้สึกคัน ระคายเคือง และเสียความมั่นใจเพราะลักษณะผิวหนังที่ผิดปกติได้
อาการ
ภาวะผิวหนังอักเสบแต่ละชนิด อาจมีลักษณะและอาการแตกต่างกัน ดังนี้
- ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง(Atopic Dermatitis) มักเป็นตั้งแต่วัยทารก เป็นผื่นคันและแดงตามผิวหนัง เกิดขึ้นบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา และลำคอด้านหน้า หากเกามาก ๆ อาจมีหนองหรือเกิดเป็นสะเก็ดหนอง อาการอาจดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ หรืออาจกลับไปเป็น ๆ หาย ๆ ได้อีกเรื่อย ๆ
- ผื่นระคายสัมผัส(Contact Dermatitis) เป็นผื่นที่เกิดขึ้นตามบริเวณผิวหนังที่สัมผัสโดนสารก่อความระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อันได้แก่ สบู่ แชมพู ผงซักฟอก เครื่องสำอาง น้ำยาย้อมผม รวมไปถึงการสัมผัส ดอกไม้ พืชผัก สัตว์ แมลง หรือแม้กระทั่ง ยางสังเคราะห์ หรือโลหะ เป็นต้น โดยผื่นแดงที่เกิดขึ้นอาจทำให้รู้สึกแสบร้อน ปวดแสบ คัน หรือเกิดแผลพุพองได้
- เซบเดิร์ม(Seborrheic Dermatitis) ผิวหนังจะลอกเป็นแผ่น ตกสะเก็ด และมีอาการแดง คัน หากเป็นที่ศีรษะจะเกิดเป็นรังแค ส่วนใหญ่จะเป็นตามผิวหนังที่มีความมัน เช่น ใบหน้าบริเวณเปลือกตาและจมูก หน้าอกส่วนบน และหลัง โดยมีอาการเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ
- ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส(Dyshidrotic Eczema) โดยจะเกิดเป็นตุ่มน้ำใส ๆ บริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ นิ้วเท้า และฝ่าเท้า อาจทำให้รู้สึกปวดและคันอย่างรุนแรง สามารถหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ และอาจกลับมาเกิดซ้ำได้เช่นกัน
- ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า(Stasis Dermatitis) มักทำให้เกิดอาการบวม ผิวหนังตกสะเก็ดบริเวณขาส่วนล่าง บางครั้งมีแผลเปื่อยหรือแผลเปิดด้านในของขาส่วนล่างและรอบ ๆ ข้อเท้า เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดดำในขาไม่ดี
- ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง(Lichen Simplex Chronicus) ส่งผลให้ผิวหนังหนาขึ้น มักพบบริเวณคางและคอ
- ผื่นผิวหนังรูปเหรียญบาท(Nummular Eczema) ผิวหนังมีความหนาและแดง ลักษณะกลม ๆ คล้ายเหรียญบาท ร่วมกับอาการคัน เป็นขุยหรือมีสะเก็ดหนอง มักเกิดบริเวณขาส่วนล่าง รวมถึงตามแขน มือ และลำตัว
- ผื่นผิวแห้ง(Xerotic Eczema) ลักษณะผิวแห้ง แตกและมีน้ำหนองไหลออกมา เมื่อผิวแห้งมากจนเกินไป
ปัจจัยเสี่ยง
- ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง(Atopic Dermatitis) มีปัจจัยการเกิดหลายชนิดร่วมกัน เช่น ผิวแห้ง พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน แบคทีเรียบนผิวหนัง และสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย
- ผื่นระคายสัมผัส(Contact Dermatitis) มีสาเหตุมาจากการที่ผิวหนังสัมผัสกับสารก่อความระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น โลหะบางชนิด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด น้ำหอม ยาย้อมผม เครื่องสำอาง หรือครีมบำรุงผิวต่าง ๆ
- เซบเดิร์ม(Seborrheic Dermatitis) เป็นภาวะผิวหนังอักเสบที่อาจเกิดจากการติดเชื้อราซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำมันตามผิวหนัง โดยเฉพาะบนหนังศีรษะและใบหน้า โดยอาจเป็นเฉพาะบางช่วงฤดูเท่านั้น และอาจกลับไปเป็นอีกได้เมื่อฤดูนั้นมาถึง
ทั้งนี้ภาวะผิวหนังอักเสบชนิดที่พบบ่อยที่สุด เป็นกลุ่มที่พบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส (Staphylococcus) และแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus) ทำให้อาการของโรคแย่ลงกว่าเดิม รวมทั้งการติดเชื้อไวรัสโรคเริมที่สามารถแทรกตัวผ่านผิวหนังที่เกิดการเสียหาย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดแผลพุพองและกลายเป็นแผลตามมาด้วยการติดเชื้อ ร่วมกับมีไข้ อ่อนเพลีย และรู้สึกไม่สบายได้
การป้องกันและดูแลเบื้องต้น
เนื่องจากภาวะผิวหนังอักเสบจะส่งผลให้ผิวแห้งและคัน เมื่อเกามาก ๆ อาจเกิดเป็นแผลและนำไปสู่การติดเชื้อที่ผิวหนัง การป้องกันและดูแลเบื้องต้นสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นและบรรเทาอาการอักเสบของผิวหนัง ดังนี้
- ใช้แผ่นประคบเย็นชนิดเปียก เพื่อช่วยให้ความรู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองที่ผิวหนังลดน้อยลง
- หลีกเลี่ยงการถูหรือเกาบริเวณที่มีอาการคัน ผู้ป่วยควรสวมเสื้อผ้าที่สามารถปกปิดบริเวณที่คัน เพื่อป้องกันการเกิดรอยถลอกจากการเกาอย่างแรง ทั้งยังควรตัดเล็บและสวมถุงมือขณะนอน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย เพราะพื้นผิวที่เรียบนุ่มของผ้าฝ้ายจะช่วยป้องกันการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณที่อักเสบ
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่อ่อนโยนและไม่มีกลิ่น เพื่อป้องกันการระคายเคืองของผิวเมื่อสัมผัสกับผ้าที่มีสารเคมีเข้มข้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงสบู่และน้ำยาซักล้างใด ๆ ที่อาจก่อความระคายเคืองต่อผิวหนัง
- เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวเป็นประจำด้วยมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ที่เป็นครีมหรือขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพื่อสร้างชั้นปกป้องการสูญเสียความชุ่มชื้น ลดความรุนแรงของอาการผื่นแพ้ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงยังอาจใช้การทามอยซ์เจอร์ไรเซอร์เป็นการรักษาหลัก
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคผื่นแพ้สัมผัสที่ควรปกป้องผิวหนังของตนเองจากการสัมผัสสารที่จะก่อให้เกิดผื่นระคายเคืองเป็นพิเศษ
- อาบน้ำคลอรีน โดยใช้ผงคลอรีลีน ½ ถ้วย (ประมาณ 120 มิลลิลิตร) ผสมกับน้ำอุ่น 150 ลิตรในอ่างอาบน้ำ วิธีนี้อาจช่วยลดแบคทีเรียบนผิวหนังของผู้ป่วยภาวะผิวอักเสบรุนแรงจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้
- รู้จักจัดการกับความเครียด เช่น หากิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย หรือออกกำลังกาย เพราะความเครียดอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยของการเกิดผิวหนังอักเสบบางชนิด
- การบำรุงและดูแลผิวไม่ให้แห้งจนเกินไปอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยป้องกันภาวะผิวหนังอักเสบได้ โดยการลดความแห้งของผิว ควรทำหลังจากการอาบน้ำในขณะที่ผิวยังคงมีความชุ่มชื้นอยู่ มีวิธีดังนี้
- ลดเวลาที่ใช้ในการอาบน้ำให้สั้นลง เพียงครั้งละ 5-10 นาที และควรอาบด้วยน้ำธรรมดา หรือจะใช้น้ำมันผสมลงในอ่างอาบน้ำก็อาจช่วยได้
- ใช้สบู่หรือครีมอาบน้ำที่อ่อนโยนต่อผิว เลือกใช้สบู่เด็กหรือสบู่ที่ไม่มีกลิ่น เพราะสบู่ที่มีสารเคมีอาจส่งผลให้ผิวยิ่งแห้ง
- เช็ดตัวให้แห้งอย่างเบามือหลังจากอาบน้ำเสร็จ อาจเช็ดด้วยผ้าเช็ดตัวที่นุ่มและอ่อนโยนต่อผิว
- ทาครีมหรือน้ำมันเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหลังจากการอาบน้ำ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย ไม่มีกลิ่น อ่อนโยน และเหมาะกับผิว
GHC สุขภาพดี คุณสร้างได้ . . .
MedShroom ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมภูมิคุ้มกัน จากเห็ดทางการแพทย์ โดดเด่นด้วยคุณค่าแห่งโภชนเภสัชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางยา ภายใต้งานวิจัยสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณ