Good Health Center

บทความสุขภาพ

osteoporosis

รู้ป้องกัน… โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน หรือ โรคกระดูกโปร่งบาง เกิดจากความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงตามวัย เป็นผลให้กระดูกผุและมีโอกาสหักได้ง่ายแม้จะไม่ได้รับการกระแทก โรคกระดูกพรุนมักเกิดกับสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือหากพบในผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป การพรุนของกระดูกด้านในส่วนใหญ่จะทำให้เกิดการหักของกระดูกสะโพก ส่วนผู้ที่ขาดสารอาหาร ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุให้เป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน

อาการ

ระยะเริ่มต้น อาการของโรคกระดูกพรุนไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่จะค่อย ๆ เป็นทีละนิด สาเหตุที่เป็นตัวส่งเสริมให้กระดูกพรุน คือ การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในรังไข่ของสตรีวัยหมดประจำเดือน โดยจะมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก หากไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการทางประสาทบังคับหลอดเลือด ทำให้นอนไม่หลับเวลากลางคืน นอกจากนี้ยังไม่อาการทางประสาทอื่น เช่น วิตกกังวล หงุดหงิด และซึมเศร้าเป็นต้น เต้านมเหี่ยวย่น เยื่อบุมดลูกแห้ง ทำให้เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ มีการติดเชื้อทางท่อปัสสาวะ ผิวหนังแห้ง เล็บฉีกขาดง่าย ผมแห้งและร่วง รวมถึงมีการเสื่อมของข้อต่อต่าง ๆ มีอาการปวดและเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่

ระยะยาว ถ้าขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนนานเข้า จะทำให้กระดูกโปร่งบาง ความแข็งแรงของกระดูกลดลง กระดูกจะกลวง และทำให้มีความเสี่ยงที่กระดูกจะหักได้ง่ายขึ้น

ปัจจัยเสี่ยง

  1. กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวประจำเดือนหมดเร็วกว่าปกติ ผู้ที่มีรูปร่างผอมมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่าย
  2. ฮอร์โมนเพศในร่างกายลดลง โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของกระดูกและการสร้างเนื้อกระดูกลดลง ทำให้เกิดการโปร่งบางของกระดูก
  3. การรับสารอาหารไม่ครบ 5 หมู่ เช่น ร่างกายได้รับแคลเซียมในปริมาณที่น้อยเกินไป หรือได้รับโปรตีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อของกระดูกลดลง แคลเซียมจึงไม่สามารถเกาะได้ กระดูกจึงบางลง หรือการทานวิตามินดีน้อยเกินไป ทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง การสร้างเนื้อเยื่อกระดูกจึงลดลงด้วย
  4. ขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายไม่สม่ำเสมอจะทำให้กระดูกบางลง จนทรุดตัวและหักง่ายในที่สุด
  5. ผู้ที่มีโรคประจำตัว หากไม่ได้รับการรักษาดูแลที่ถูกต้อง จะทำให้แคลเซียมในร่างกายไม่สมดุล เป็นเหตุให้กระดูกพรุนได้
  6. การรับประทานยารักษาโรคอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้สูญเสียเนื้อกระดูก และกระดูกบางลง
  7. ผู้ที่ไม่ได้รับแสงแดดเป็นเวลานาน จะทำให้ขาดวิตามินดี ที่เป็นส่วนสำคัญในการดูดซึมแคลเซียม
  8. ความเครียด เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน เพราะเมื่อใดที่เครียด จะทำให้การขับฮอร์โมนต่าง ๆ เกิดความผิดปกติ ความอยากอาหารน้อยลง ทำกิจกรรมน้อยลง ซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมที่ทำให้มีการเสียเนื้อกระดูก กระดูกจึงบางลง

การป้องกันและดูแลเบื้องต้น

  1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง กระดูกมีความสมบูรณ์ โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนจะลดลง การออกกำลังกายที่แนะนำ เช่น การเดินด้วยท่าทางกระฉับกระเฉง การเดินในน้ำ การรำมวยจีน ปั่นจักรยาน กระโดยเชือก เต้นแอโรบิก และว่ายน้ำ เป็นต้น
  2. การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ในประมาณที่เหมาะสม รวมถึงทานอาหารที่มีความสำคัญกับกระดูก ได้แก่
    • โปรตีน ช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อของกระดูกให้แข็งแรง เพื่อแคลเซียมจะได้ยึดกับเนื้อเยื่อกระดูกได้ อาหารที่มีโปรตีนสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ถั่วต่าง ๆ และเต้าหู้ เป็นต้น
    • แคลเซียม เป็นสารอาหารในการสร้างกระดูก อีกทั้งยังช่วยให้เลือดแข็งตัว และช่วยการหดตัวของกล้ามเนื้อ อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมสด นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ปลาตัวเล็กตัวน้อย งาดำ และผักใบเขียวทุกชนิด
    • วิตามินดี ช่วยดูดซับแคลเซียมและช่วยสร้างกระดูก การได้รับแสงแดดอ่อน ๆ อย่างน้อยวันละ 10 นาที จะช่วยให้ร่างกายไม่ขาดวิตามินดี สำหรับอาหารที่มีวิตามินดี ได้แก่ ไข่ ตับ และนม เป็นต้น
  1. หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสาเหตุให้ร่างกายขาดสารอาหาร และยังทำให้การดูดซับแคลเซียมลดลงด้วย
  2. การใช้อิริยาบถที่ถูกต้อง จะช่วยลดปัญหากระดูกบางและทรุดตัวได้
    • ท่านอน หากนอนหงาย ควรเหยียดขาให้ตรง เอาหมอนหนุนใต้เข่าจะช่วยลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ท้อง หลัง และขา และช่วยทำให้กระดูกสันหลังแบนราบไม่โค้ง หากนอนตะแคง ให้ใช้หมอนหนุนศีรษะ ขาล่างเหยียดตรง ขาบนงอ หรือเข่าก่ายหมอนข้างไว้ หลีกเลี่ยงการนอนคว่ำ สำคัญคือที่นอนต้องแน่น นอนแล้วไม่ยุบตามน้ำหนักตัว
    • ท่านั่ง ควรนั่งให้ก้นเข้าสุดเก้าอี้ ศีรษะตั้งตรง ต้นขาวางราบกับที่นั่ง เท้าทั้งสองข้างวางราบบนพื้น เก้าอี้ควรมีพนักพิงและที่เท้าแขน
    • ท่ายืน ควรยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย แขนทั้งสองวางข้างลำตัว หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูง
    • ท่าเดิน เดินตัวตรง ศีรษะตรง หลังตรง ถ้าเดินถือสิ่งของด้วย ควรถือไว้แนบข้างลำตัว และไม่ควรถือของหนักเกินไป

GHC สุขภาพดี คุณสร้างได้ . . .

MedShroom ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมภูมิคุ้มกัน จากเห็ดทางการแพทย์ โดดเด่นด้วยคุณค่าแห่งโภชนเภสัชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางยา ภายใต้งานวิจัยสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณ