Good Health Center

บทความสุขภาพ

Parkinson

รู้รักษ์… โรคพาร์กินสัน

พาร์กินสัน เป็นโรคทางระบบประสาท เกิดจากการลดลงของเซลล์สมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เมื่อเป็นโรคนี้จะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้

อาการ

  1. อาการสั่นเฉพาะที่ อาจเกิดกับซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย เช่น มือหรือเท้า ประมาณ 1-2 ปี จะสั่นขณะอยู่เฉย ๆ แต่เมื่อเคลื่อนไหวอาการสั่นจะลดลงหรือหายไป ในระยะท้ายอาการสั่นจะมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเวลาที่มีความกังวล ตกใจ หรือเครียด แต่อาการจะไม่ปรากฏขณะที่นอนหลับ ต่อเมื่อตื่นขึ้นอาการสั่นถึงจะกลับมาอีกครั้ง
  2. อาการเกร็งแบบท่อโลหะ พบที่แขนมากกว่าขา เป็นการตึงตัวของกล้ามเนื้อตลอดเวลา บริเวณคอด้านหลังและข้อไหล่ แต่บางคนอาจเกร็งที่ลำตัว เป็นอาการเกร็งแบบฟันเฟือง ที่มีอาการสั่นร่วมด้วย ทำให้การตึงตัวของกล้ามเนื้อมีลักษณะสะดุด และเกร็งเป็นช่วง ๆ มักปรากฏอาการที่ข้อมือและข้อศอก อาการเกร็งจะแปรปรวนมากขณะยืนหรือตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาการจะดีขึ้นเมื่อนอนพักผ่อนหรือได้รับการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ผู้ที่มีอาการเกร็งมากที่ลำตัว เวลานอนจะมีอาการเกร็งที่คอตลอดเวลา ศีรษะไม่ติดพื้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะไม่ตอบสนองกับอารมณ์ทางสีหน้า เนื่องจากมีอาการเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อบนใบหน้า จึงอาจทำให้มีอาการซึมเศร้า ไม่ร่าเริง นอกจากนี้อาการเกร็งยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของมือและเท้า ข้อเท้างอ นิ้วเท้างอ เดินไม่แกว่งแขน งอข้อศอก ตัวงอ ก้มคอ จึงทำให้เดินเซไปทางใดทางหนึ่ง
  3. เคลื่อนไหวช้า ใช้มือได้น้อยลง เนื่องจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ส่วนใหญ่เกิดที่แขนและขา ทำให้การทำกิจวัตรประจำวันยากขึ้น เช่น การอาบน้ำ แต่งตัว การรับประทานอาหาร และเขียนหนังสือได้ลำบากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการปัสสาวะและอุจจาระ ควรหากระโถนไว้ใกล้ตัวเพื่อป้องกันการเลอะเทอะ
  4. มึนงง ทรงตัวไม่ดี หกล้มง่าย ในระยะแรกจะเดินซอยเท้าถี่ ๆ บางครั้งเดินย่ำอยู่กับที่ เดินโน้มตัวไปข้างหน้า แขนไม่แกว่ง มีปัญหาในการเดินผ่านทางแคบ ๆ ควรใช้ไม้เท้าช่วยเดินหรือนั่งรถเข็น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
  5. ปวดเมื่อย ซา และปวดแสบปวดร้อน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการเกร็งและตึงของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่ขา เท้า และแขน ที่ไม่ได้รักษาตั้งแต่ระยะแรก หรือกล้ามเนื้อปวดรุนแรง หดเกร็งมาก จำเป็นต้องได้รับการรักษา หรือบรรเทาอาการปวดเมื่อยด้วยการบีบนวดเบา ๆ ประคบน้ำร้อน หรือกินยาแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ
  6. มีอาการพูดลำบาก พูดเบาลง เร็วขึ้น ไม่มีระดับเสียงต่ำหรือสูง ทำให้ผู้ฟังไม่เข้าใจในสิ่งที่พูด ไม่สามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้
  7. กล้ามเนื้อที่ช่วยในการกลืน เช่น ลิ้น ลิ้นไก่ และหลอดอาหารจะกลืนอาหารได้ช้าลง มีน้ำลายไหลมากขึ้น ทำให้มีความรู้สึกเหมือนมีอาหารมาจุกที่ลำคอ จึงทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว จะช่วยให้กลืนง่ายขึ้น ควรเคี้ยวให้ละเอียด วางอาหารตรงกลางลิ้น เวลากลืนก้มหน้าเล็กน้อย กลั้นหายใจแล้วค่อยกลืน ไม่ควรพูดคุยขณะรับประทานอาหารพราะจะทำให้สำลักเศษอาหารติดหลอดลมได้
  8. การทำงานของลำไส้และกระเพาะอาหารช้ากว่าปกติ ทำให้มีอาการท้องอึดและอุจจระค้างอยู่ในลำไส้ จนทำให้เกิดอาการท้องผูก ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่มีกากไยสูง
  9. ปัสสาวะไม่ออก ออกยาก ออกช้า และไม่สุด ทำให้เกิดการตกค้างของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ติดเชื้อทางระบบปัสสาวะได้ง่าย
  10. นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ตื่นตอนกลางดึก และง่วงตลอดเวลา
  11. ซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่อยากทำกิจกรรมตลอดวัน ประสาทหลอน พูดคนเดียว หรือมีพฤติกรรมแปลก ๆ เป็นต้น
  12. ขาดความมั่นใจเวลาอยู่ในที่สาธารณะ ไม่อยากพบปะผู้คน

ปัจจัยเสี่ยง

  1. การเสื่อมสภาพของสมอง เกิดจากการสร้างโดปามีนในสมองมีจำนวนลดลง จึงทำให้เซลล์ของสมองเสื่อมและตายลง ซึ่งสารโดปามีนนี้จะช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย พบในผู้หญิงและผู้ชายอายุ 65 ปีขึ้นไป
  2. ยาลดความดันโลหิตสูง มีส่วนทำให้สมองสร้างสารโดปามีนลดลง
  3. ยากล่อมประสาท เป็นยาที่ต้านการสร้างสารโดปามีนในสมอง
  4. การได้รับอุบัติเหตุที่รุนแรงและศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน
  5. สารพิษ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์จากท่อไอเสียรถยนต์ แมงกานีสจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เขลล์สมองเสื่อม เสี่ยงต่อการเป็นโรคพาร์กินสัน
  6. สมองขาดออกชิจน เกิดจากการที่มีเสมหะหรือเศษอาหารไปอุดตันที่ทางเดินหายใจ หรือจมน้ำ หรือถูกบีบคอ เป็นต้น

การป้องกันและดูแลเบื้องต้น

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม เน้นการทานผัก ผลไม้ และธัญพืช ที่มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีแป้ง ไขมัน เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด และดื่มน้ำมาก ๆ
  2. การออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันจะลดความเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสัน ช่วยทำให้กล้ามเนื้อไม่ตึง การทรงตัวดีขึ้น ข้อต่าง ๆ มีการคลื่อนไหว
  3. เดินตัวตรง ศีรษะ ไหล่ อยู่ในแนวเดียวกัน ใส่รองเท้าที่สวมสบาย มีพื้นยางกันลื่น เวลาเดินให้ยกเท้าสูง ก้าวให้ยาว และแกว่งแขน
  4. ควรหาเสื้อผ้าที่สวมใส่ง่าย เน้นเสื้อที่สวมหรือมีกระดุม ส่วนกางเกงเลือกแบบยางยืด เวลาสวมเสื้อผ้าควรนั่งบนเก้าอี้ทุกครั้ง
  5. การตื่นในตอนดึก บางคนเกิดอาการสั่น บางคนเมื่อลุกขึ้นมาปัสสาวะกลับไปนอนไม่หลับ ควรดื่มน้ำให้น้อยลงในตอนเย็นและก่อนนอน ป้องกันการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน
  6. ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน เช่น ในส่วนของพื้นห้องน้ำและอ่างน้ำ ควรมีผ้ายางกันลื่น ติดราวจับกันลื่น มีเก้าอี้ไว้นั่งอาบน้ำ ตรงโถส้วมควรติดราวไว้พยุงตัวเวลาลุกนั่ง ส่วนห้องนอน เตียงนอนไม่ควรสูงเกินเข่า จัดที่นอนให้เรียบง่าย และติดราวข้างเตียงไว้สำหรับพยุงตัว ส่วนห้องโถง ตรงทางเดินควรมีราวพยุงตัวกันล้ม เก้าอี้ต้องมีพนักพิงหลัง มีที่วางแขน และเสริมเบาะนั่งให้สูงพอดี ตามทางเดินไม่ควรมีสิ่งของกีดขวาง เก็บสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ ให้พันทางเดิน ป้องกันการเดินสะดุด

GHC สุขภาพดี คุณสร้างได้ . . .

MedShroom ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมภูมิคุ้มกัน จากเห็ดทางการแพทย์ โดดเด่นด้วยคุณค่าแห่งโภชนเภสัชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางยา ภายใต้งานวิจัยสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณ